รัฐบาลโอบามาเปิดเผยคำสั่งศาลลับ 2300 หน้า


NSA
หลังแนวทางปราศัยการปฏิรูป NSA ผลของคำปราศัยก็มีผลอย่างแรกทันทีด้วยการเปิดเผยคำสั่งของศาลลับสำหรับการหาข่าวกรองจากต่างประเทศ (Foreign Intelligence Surveillance Court - FISC) ที่ปกติแล้วคำสั่งศาลจะถูกปิดบังจากภายนอก โดยเอกสารชุดแรกเป็นเอกสารตามกฎหมายหมวด 501 ของกฎหมายการหาข่าวกรองต่างประเทศ (Foreign Intelligence Surveillance Act - FISA)
คำพิพากษาชุดแรกนี้แบ่งเป็นคำสั่ง 44 คำสั่ง, คำแก้ต่างและเอกสารที่ส่งให้ศาล FISC อีก 11 รายการ, เอกสารยื่นต่อสภาคองเกรส 24 รายการ และรายงานอีก 20 ฉบับ รวมถึงเอกสารการฝึกเจ้าหน้าที่ให้ทำงานภายใต้กฎหมาย และเอกสารอนุญาตให้ดังฟังอีกกว่า 400 หน้าที่อนุญาตโดยอดีตประธานาธิบดีบุช
ตัวเอกสารยืนยันเอกสารหลายอย่างของ Edward Snowden เช่น คำสั่งให้บริษัทเอกชน (ถูกเซ็นเซอร์ชื่อออกในกระบวนการเปิดเผยเอกสาร) เปิดเผยข้อมูลให้แก่หน่วยงานรัฐและได้รับค่าใช้จ่ายชดเชยไป แต่ก็ยังมีข้อมูลใหม่ๆ เช่น NSA จะได้รับสิทธิให้ใช้งานข้อมูลเหล่านั้นเป็นระยะเวลาจำกัด 5 ปีจึงต้องทำลายข้อมูลเหล่านั้นเสีย และระหว่างนั้นจะต้องจัดเก็บอยูภายในเครือข่ายของ NSA เท่านั้น
ในเอกสารฉบับหนึ่ง FISC คาดว่า NSA จะช่วย FBI ให้ระบุตัวตนของโทรศัพท์ประมาณวันละ 3 ครั้งโดยเฉลี่ย ขณะที่คำพิพากษาฉบับหนึ่งระบุว่าแม้จะสามารถเก็บ metadata ไว้ได้โดยไม่มีเหตุสงสัย แต่การเข้าค้นฐานข้อมูลที่เก็บไว้จะต้องมีเหตุสงสัยเสียก่อน แต่ปรากฎว่าบางครั้ง NSA ก็เข้าใช้ฐานข้อมูลด้วยเหตุผลอื่นๆ โดยไม่มีเหตุสงสัยตามคำสั่ง
เอกสารรวมที่เปิดเผยออกมาในรอบนี้มีความยาวถึง 2,300 หน้า คงต้องระยะเวลาหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญจะเริ่มเข้าไปอ่านและวิเคราะห์ว่าหลายปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับความเป็นส่วนตัวผ่านอำนาจ FISC กันบ้าง
ที่มา - ArsTechnicaIC on the Record และ blognone

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น