ข่าวใหญ่อีกข่าวของวงการมือถือโลกเมื่อวานนี้คือ การเปิดตัว Galaxy S5 ของผู้ขายสมาร์ทโฟนหมายเลขหนึ่งของโลก รายละเอียดเบื้องต้นว่ามันทำอะไรได้บ้าง ผู้อ่าน Blognone น่าจะรับทราบกันหมดแล้วนะครับ
แวบแรกที่ผมอ่านข่าว Galaxy S5 ก็รู้สึกว่าไม่เห็นจะมีอะไรใหม่สักเท่าไรเลย แต่พอวันนี้ตอนเย็นๆ มีเวลานั่งดูคลิปงานแถลงข่าว Unpacked 2014 แบบละเอียดๆ ก็พบว่ามันมีอะไรน่าสนใจเยอะอยู่เหมือนกัน
บทความนี้จึงเป็นการ "วิจารณ์" ฟีเจอร์ต่างๆ ของ Galaxy S5 (แบบไม่เคยจับของจริง) ว่าอะไรบ้างที่น่าจะเวิร์คหรือไม่เวิร์คในมือถือเรือธงตัวล่าสุดของซัมซุงตัวนี้
จาก S4 สู่ S5: กลับสู่แนวทางที่ควรจะเป็น
อย่างแรกเลยต้องย้อนความไปยัง Galaxy S4 เรือธงของปีที่แล้ว ที่จัดงานใหญ่โตหรูหรา (ผมก็ได้รับเชิญจากซัมซุงไปงานนี้ด้วยนะครับ) มีฟีเจอร์มากมาย แต่สุดท้ายฟีเจอร์เหล่านี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นแค่ลูกเล่นที่ใช้งานไม่ได้จริง ใส่มาให้รกเครื่องเปล่าๆ ซึ่งก็สร้างผลสะเทือนให้กับซัมซุงไม่น้อย ("ว่ากันว่า" S4 ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า "ว่ากันว่า")
พอมาถึงยุคสมัยของ Galaxy S5 ตัวแทนซัมซุงก็พูดบนเวทีชัดเจนว่า "รับฟัง" เสียงเรียกร้องจากผู้ใช้และปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาใหม่ ภายใต้แนวคิดว่า Meaningful Innovation ซึ่งผมว่าน่าจะเป็นภาพสะท้อนของ Galaxy S5 ได้เป็นอย่างดี
ของใหม่ใน Galaxy S5 ถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม (เพื่อให้ตรงกับเลข 5 ดูลงตัว) เพื่อความสะดวกของคนเขียนก็จะขอไล่ฟีเจอร์ตามลำดับของซัมซุงเลยนะครับ
ดีไซน์: พัฒนาขึ้นแต่ยังไม่สุด
สิ่งที่ Galaxy S4 โดนวิจารณ์หนักที่สุดคงหนีไม่พ้น "ดีไซน์" ที่ดูเหมือนพลาสติกราคาถูก ไม่สมราคารุ่นท็อปสักเท่าไร ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ซัมซุงพยายามแก้ปัญหานี้ไปในหลายทิศทาง เช่น ใน Galaxy Note 3 และซีรีส์ Galaxy Note ในปี 2013 เปลี่ยนมาใช้ดีไซน์เลียนแบบหนังสัตว์ ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง (แต่ยังไม่ถึงกับดีมาก)
กรณีของ S5 ก็ใช้ดีไซน์ไปในอีกทาง (ชื่อเรียกของมันคือ Modern Glam) โดยฝาหลังใช้ตารางที่สร้างจากจุด (เหมือนกับ Nexus 7 2012) ส่วนด้านหน้าแทบจะเหมือนของเดิมทุกประการ
เรื่องดีไซน์ตัวเครื่องนี้ไม่เห็นของจริงยังไม่กล้าฟันธงครับ ผมพยายามหารูปจากเว็บของซัมซุงที่ดูเป็นการใช้งานในสภาพจริงมากที่สุด ก็ได้ตามภาพข้างล่างนี้ (ให้ดูแต่รูปแล้ววิจารณ์ ก็คงบอกได้ว่าดีขึ้นจาก S4 และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับ Note 3 แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นสวยเป๊ะแบบ iPhone 5/5s)
ประเด็นเรื่องดีไซน์ด้านอื่นๆ ที่ซัมซุงพูดถึงคือจอภาพ จอยังเป็น Super AMOLED เหมือนเดิม ขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อยเป็น 5.1" (ตัวเครื่องใหญ่ขึ้นด้วยเล็กน้อย) อันนี้ไม่มีอะไรหวือหวา เทคโนโลยีจอภาพบนอุปกรณ์พกพาน่าจะเริ่มตันแล้วทั้งในแง่ชนิดของจอและความละเอียด
แต่ฟีเจอร์ที่ดูจะมีประโยชน์มากคือการปรับแสงสว่างทั้งในแง่สว่างสุดสู้แดด และแสงน้อยสุดๆ เพื่อไม่ให้แสบตาในที่มืด Galaxy S5 ขยายขีดจำกัดด้านความสว่างทั้งขอบบนและขอบล่างแบบนี้ ก็ถือเป็นฟีเจอร์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงมากพอสมควร
อีกประเด็นเรื่องของดีไซน์คือ UI ที่ซัมซุงเรียกว่า Vibrant UX อันนี้ถือว่าผิดจากข่าวลือว่าซัมซุงจะใช้ดีไซน์แนว Magazine UX ที่เปลี่ยนหมดตั้งแต่หัวจรดเท้า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ Vibrant UX ปรับปรุงจาก TouchWiz ของเดิมไม่มากนัก
แต่การปรับปรุงก็เป็นไปในเชิงบวกนะครับ หน้าตาดูเรียบง่ายมากขึ้น ลดความ "เยอะ" ลงไปพอสมควร เพียงแต่มันก็ไม่มีอะไรใหม่มากนักในแง่ของนวัตกรรม UI และยังอิงอยู่บนพื้นฐานของ TouchWiz เดิม (ซึ่งก็มีแง่ดีว่าไม่ต้องเรียนรู้กันใหม่เยอะ)
โดยสรุปแล้ว ประเด็นเรื่องดีไซน์ของ S5 ทำได้ดีขึ้นกว่าของเดิม แต่ยังไม่ดีขึ้นเยอะมากอย่างผมแอบที่หวังไว้ครับ
กล้อง: ไม่หวือหวาแต่ใช้งานได้จริง
กล้องบนมือถือกลายเป็นวิถีชีวิตของผู้คน เป็นกล้องที่คนสะดวกในการหยิบมาถ่ายภาพมากที่สุด ดังนั้นมือถือกล้องดีจึงมีชัยไปกว่าครึ่ง แอปเปิลเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีและใส่ใจกับกล้องของ iPhone รุ่นหลังๆ มาก ถึงแม้จะไม่ขั้นเทพแบบ PureView ของโนเกีย แต่ก็ตอบสนองความต้องการใช้งานทั่วไปและที่สำคัญคือ "ใช้ง่าย"
ปีที่แล้วเราแทบไม่เห็นซัมซุงชูประเด็นเรื่องกล้องเลย (แต่ S4/Note 3 ก็มีกล้องที่คุณภาพดีเกินมาตรฐาน เพียงแต่ไม่ใช่ระดับโดดเด่นที่สุด) มาปีนี้ ซัมซุงกลับมาขุดเรื่องกล้องเป็นจุดขายอีกรอบ
ฟีเจอร์ด้านกล้องของ Galaxy S5 มีของใหม่ด้วยกัน 3 อย่างคือ Fast AF, HDR, Selective Focus
Fast AF ดูเป็นฟีเจอร์ที่ดูมีนวัตกรรมมากที่สุด ซัมซุงยัดระบบ Phase Detection Auto Focus เข้ามา (ตามภาพ) และปรับปรุงเรื่องชิปในการช่วยประมวลผลภาพด้วย ผลออกมาเป็นว่า S5 จับโฟกัสได้เร็วมาก เพียง 0.3 วินาทีเท่านั้น
ฟีเจอร์ Fast AF น่าจะมีผลต่อการใช้งานกล้องจริงๆ มาก เพราะการถ่ายภาพทุกครั้งจะได้ประสบการณ์โดยรวมที่ดีขึ้น ถ่ายรูปได้ไวขึ้นในระดับหนึ่ง
ฟีเจอร์ HDR เป็นของที่คงได้ใช้กันเยอะอีกตัวหนึ่ง เพราะในการถ่ายภาพด้วยกล้องมือถือจริงๆ เรามักเจอสถานการณ์แสงแย่ๆ ที่ต้องบังคับให้ถ่าย HDR อยู่บ่อยๆ ดังนั้นการปรับปรุง HDR ให้ดีขึ้นย่อมมีประโยชน์ แต่ถ้าถามว่ามันเป็นของใหม่หรือเปล่า ก็ตอบได้เต็มปากเลยครับว่าไม่ใหม่เท่าไรนัก ชาวบ้านเขาทำกันมานานแล้ว
Selective Focus อันนี้แปลกใหม่ดี ถือเป็นลูกเล่นที่ช่วยให้ถ่ายภาพดูดีขึ้น แต่ถ้าถามว่าเราจะได้ใช้มันทุกสถานการณ์หรือไม่ ก็คงไม่ใช่ ผมยกให้ฟีเจอร์นี้เป็น nice-to-have แต่ไม่ถึงขั้นยกระดับคุณภาพชีวิตเหมือนกับ Fast AF
โดยรวมก็เหมือนที่จั่วหัวไปครับ นวัตกรรมใหม่อาจไม่เยอะเท่ากับคู่แข่งบางราย (เช่น PureView) แต่ถามว่าที่เพิ่มเข้ามามันน่าจะใช้ได้จริงไหม คำตอบก็คงใช่
Speed: เร็วขึ้น แต่ก็ตามมาตรฐาน
ซัมซุงชูจุดขายเรื่องความเร็วในการเชื่อมต่อไว้ 3 ประการ คือ LTE, Wi-Fi MIMO 802.11ac และ Download Booster
เรื่อง LTE มาถึงวันนี้ปี 2014 ต้องถือว่าเป็นฟีเจอร์มาตรฐานของมือถือระดับเรือธงไปแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่เพราะมือถือเรือธงของปีที่แล้วหลายๆ ตัวก็รองรับ LTE กันบ้างแล้ว เช่น iPhone 5s หรือ Sony/Nokia การที่ซัมซุงใส่ LTE มาเป็นมาตรฐานคงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะเป็นไฟต์บังคับที่ไม่ใส่มาก็ขายไม่ออก
Wi-Fi MIMO 802.11ac ก็ถือเป็นการรองรับ Wi-Fi ที่เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในตอนนี้ ฟีเจอร์แบบนี้เป็นเรื่องดีครับ แต่การใช้งานจริงก็ขึ้นกับ access point ของเราเองด้วยว่าเป็น ac กับเขาด้วยไหม (รอบการอัพเกรด access point มันนานๆ ทีทำกันทีซะด้วย ผมเชื่อว่าหลายคนยังใช้ g กันอยู่ หรือบางคนอาจยังเป็น b ด้วยซ้ำไป)
สุดท้ายฟีเจอร์ Download Booster ที่ใช้ Wi-Fi กับ LTE ช่วยกันดาวน์โหลดไฟล์ อันนี้แปลกใหม่ดีแต่โอกาสที่จะได้ใช้งานจริงคงมีน้อย เพราะต้องมีเงื่อนไขครบทุกอย่างจึงจะทำงานได้ดังโฆษณา (เช่น มี LTE, ดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่จริงๆ)
สรุปแล้ว ฟีเจอร์ด้านความเร็วในการเชื่อมต่อก็อยู่ในกลุ่มมาตรฐานอุตสาหกรรม แต่ไม่มีอะไรแปลกใหม่เช่นกัน
ความอึด: ไม่ใหม่ แต่มีประโยชน์
Galaxy S5 สามารถทนน้ำทนฝุ่นตามมาตรฐาน IP67 เรื่องนี้ดีแน่นอนเพราะผู้บริโภคทำมือถือตกน้ำแล้วมีปัญหากันเป็นจำนวนมาก การที่ Galaxy S5 กันน้ำได้ในระดับที่เรียกว่าเหลือเฟือสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน (คงไม่มีใครเอามือถือไปแช่น้ำเกิน 30 นาทีกระมัง) ถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมากๆ
แต่ IP67 ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกนั่นแหละ เราเห็น Sony บุกเบิกเรื่องนี้มานานจนกลายเป็นเอกลักษณ์ไปแล้ว ดังนั้นฟีเจอร์นี้ถือว่ามีประโยชน์มาก แต่ซัมซุงไม่ใช่รายแรกที่ทำ
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ายุทธศาสตร์นี้น่าจับตาเพราะช่วงหลังๆ วงการมือถือเริ่มตัน หาฟีเจอร์ใหม่ๆ ใส่เข้ามาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่ซัมซุงอาจจะขยายความสามารถด้านกันน้ำกันฝุ่นไปยังสมาร์ทโฟนตลาดบนตัวอื่นๆ ที่จะขายในปีนี้ด้วย (ที่แน่ๆ Note 4 คงมีชัวร์)
ฟีเจอร์อย่างที่สองในประเด็นเรื่องความอึด-ความปลอดภัยคือ ตัวสแกนลายนิ้วมือ ฟีเจอร์ที่หลายคนคงคุ้นเคยมาจาก iPhone 5s (แต่ถ้าพูดกันตรงๆ แล้ว iPhone 5s ก็ไม่ใช่รายแรกที่ทำเช่นกันนะ)
ฟีเจอร์นี้ชัดเจนว่าซัมซุงเป็นผู้ตาม แต่มันช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้นจริง (รูดง่ายแค่ไหน เทียบกับ iPhone 5s แล้วเป็นอย่างไร ไม่มีใครทราบ ต้องรอเครื่องจริง)
ซัมซุงพยายามโชว์จุดขายว่ามันไม่ใช่แค่ปลดล็อคเครื่อง แต่ยังสามารถใช้จ่ายเงินด้วย PayPal ได้ด้วย เรื่องนี้ผมว่าดีแต่ทำจริงมันไม่ง่ายเพราะ ecosystem ทั้งระบบต้องสนับสนุนกันหมด การชูว่าใช้จ่าย PayPal ก็คงเป็นแค่ลูกเล่นที่ไม่น่าจะได้ใช้งานจริงกันมากนัก
แต่ฟีเจอร์ที่กลับน่าจะเวิร์คคือ Private Mode ที่ซ่อนไฟล์ข้อมูลสำคัญๆ เอาไว้ เจ้าของเข้าถึงได้โดยการรูดนิ้วเท่านั้น ตัวอย่างการใช้งานที่พิธีกรพูดถึงบนเวทีคือ เขาถ่ายภาพพาสปอร์ตเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน แต่ไม่อยากให้คนอื่นเห็นข้อมูลนี้ในเวลาปกติทั่วไป ซึ่งตัวสแกนลายนิ้วมือ+Private Mode ตอบโจทย์นี้มากๆ
ฟีเจอร์ Kids Mode ถือเป็นกลุ่ม nice-to-have อีกเหมือนกัน และซัมซุงก็ไม่ได้ทำเป็นเจ้าแรก (อีกแล้ว) โดยทั้ง Kindle Fire และ Windows Phone มีมาก่อนนานแล้ว
แบตเตอรี่ใช้งานได้อึดกว่าเดิม ตรงไปตรงมาแต่มีประโยชน์ แต่อันที่เจ๋งจริงคือ Ultra Power Saving Mode ฟีเจอร์ที่เรียกเสียงปรบมือได้จากคนดู ด้วยสโลแกนง่ายๆ ว่า "แบตเหลือ 10% สแตนด์บายได้อีก 24 ชั่วโมง"
ส่วนการใช้งานจริงจะทำได้สมราคาคุยหรือไม่ ก็คงต้องรอเทสต์ของจริงกันต่อไปครับ
Fitness: นวัตกรรมของแท้แต่ต้องรอเวลา
ฟีเจอร์ที่ผมยกให้เป็นนวัตกรรม "ซัมซุงทำคนแรก" ของจริงคือ ตัววัดอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate sensor) เรื่องนี้ใหม่จริงและน่าจะมีคนลอกในไม่ช้า
หลายคนอาจมีคำถามว่ามือถือจะวัดอัตราการเต้นของหัวใจไปเพื่ออะไร คำตอบต้องดูภาพรวมของเทคโนโลยีครับ ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ซัมซุงยังเปิดตัวสินค้ากลุ่มสวมใส่ได้อีก 2 ตัวคือ Gear 2 และ Gear Fit ที่วัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ทั้งคู่
พูดง่ายๆ ว่าในสินค้าใหม่ของซัมซุงที่เปิดตัวในงาน MWC 2014 ทุกตัววัดการเต้นของหัวใจได้หมด มันชี้ให้เห็นถึงทิศทางของซัมซุง (และโลกเทคโนโลยีในภาพรวม) ที่กำลังหมุนไปในยุคของอุปกรณ์แบบสวมใส่ได้ ซึ่งฟีเจอร์ด้านฟิตเนสและสุขภาพจะกลายเป็นพระเอก
ผมคิดว่าเรื่องนี้ต้องรอให้อุตสาหกรรมพร้อม และความพร้อมของผู้ใช้เองอีกต่อหนึ่ง ในอีกไม่ช้าเราอาจวัดข้อมูลของร่างกายแบบเรียลไทม์ตลอดเวลา และมีแอพพลิเคชันมากมายที่คอยวิเคราะห์ข้อมูลพวกนี้เพื่อแจ้งเตือนเมื่อร่างกายเกิดภาวะผิดปกติ
heart rate sensor เป็นก้าวแรกๆ ของวิสัยทัศน์เหล่านี้ มันแปลกใหม่จริงแต่ก็ต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะได้ใช้งานแบบเต็มศักยภาพ
สรุป
โลกมือถือแข่งกันดุเดือดมาหลายปี อะไรที่เอามายัดใส่ได้ก็ใส่กันจนไม่รู้จะใส่อะไรเพิ่มได้อีกแล้ว โลกมือถือระดับ flagship ในช่วง 1-2 ปีให้หลังจึงเริ่มหมุนช้าลง (เป็นกันทุกค่าย แอปเปิลก็เป็น)
กรณีของ Galaxy S5 ก็คงไม่หนีกันมาก ของใหม่แบบว้าวจริงๆ ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน มีไม่เยอะเท่าไรนัก
แต่ถ้าพิจารณาจากปัญหาของ Galaxy S4 (เยอะแต่ไม่ค่อยได้ประโยชน์) ต้องถือว่า Galaxy S5 กลับมาอยู่ในแนวทางที่ควรจะเป็นในเรื่องการตอบโจทย์ผู้ใช้งาน (สักทีนะ) และหวังว่าซัมซุงจะเดินหน้าในแนวทางนี้ต่อไป
จุดที่ผมผิดหวังคงเป็นเรื่องดีไซน์ (ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์) ที่ยังไม่กล้าฉีกแนวใหม่ๆ และยังเลือกที่จะเดินตามสูตรสำเร็จแบบเดิมๆ อยู่มาก (ซึ่งถ้าจะพูดให้แฟร์ก็ต้องบอกว่า คู่แข่งหลายๆ ค่ายในช่วงหลังก็ไม่ค่อยฉีกแนวทางการดีไซน์เหมือนกัน)
ผมคาดว่า Galaxy S5 น่าจะขายดีในระดับไล่เลี่ยกับของเดิม แต่ถ้าจะหวังยอดขายถล่มทลายแบบที่เคยทำได้ในอดีตคงยากแล้ว เพราะมือถือตลาดบนน่าจะเริ่มอิ่มตัวกันแล้ว
ปี 2014 จะเป็นปีของมือถือตลาดกลาง/ล่างที่จะต่อสู้กันอย่างดุเดือด และเราน่าจะได้เห็นมือถือราคาไม่แพงแต่ดึงฟีเจอร์ของตัวท็อปๆ ของแต่ละค่ายมาฟาดฟันกันอย่างสนุกสนานครับ (ผู้บริโภคได้ประโยชน์ในท้ายที่สุด เฮ)
ปิดท้ายด้วยคลิปงานแถลงข่าว Unpacked 2014 เผื่อว่าใครยังไม่ได้ดู ผมว่าปีนี้ซัมซุงทำได้ดีทีเดียว เข้าเป้า ตรงประเด็น ไม่ลีลาร่ำไรเหมือนปีที่แล้ว